ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว เจ้าของเหรียญแพงของราชบุรี
![]() |
หลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว (พระครูประดิษฐ์นวการ) |
หลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว ท่านเป็นศิษย์ของหลวงพ่อหนึ่ง วัดห้วยโรง จังหวัดเพชรบุรี เช่นเดียวกับหลวงพ่อไพล วัดบางแคกลาง โดยมีประวัติที่จดบันทึกไว้ว่า
หลวงพ่อบุญ อิสฺสโร (พระครูประดิษฐ์นวการ) เดิมชื่อบุญ ผลลาภ เกิดวันอาทิตย์ แรม ๗ ค่ำ เดือนยี่ ปีขาล ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๕ ณ ที่บ้านไร่ห้อง หมู่ ๑ ตำบลห้วยโรง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี (พื้นที่ติดกับเขตราชบุรีเพียงมีคลองกั้นเท่านั้น)
โยมบิดาชื่อนายคง ผลลาภ โยมมารดาชื่อนางอยู่ ผลลาภ มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกันทั้งหมด ๗ คน ท่านเป็นคนหัวปี (คนโต)
มีความรู้ชั้น ป.๔ และเรียนรู้ภาษาขอม สอบได้นักธรรมโท เป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมาโดยตลอด บวชเป็นเณรตั้งแต่อายุ ๑๒ ปี ๘ พรรษาปี พ.ศ. ๒๔๕๖ หลวงพ่อบุญมีอายุได้ ๑๑ ปี โยมบิดาและโยมมารดาได้ให้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดวังมะนาว เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ โดยมีพระอธิการส่ง เจ้าอาวาสวัดวังมะนาว เป็นพระอุปัชฌาย์
ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ หลวงพ่อบุญ ท่านมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านจึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดวังมะนาว ตำบลวังมะนาว อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ต่อเมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ ได้รับฉายาว่า "อิสฺสโร" โดยมี
หลวงพ่อหนึ่ง วัดห้วยโรง เพชรบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์
หลวงพ่อส่ง วัดวังมะนาว เป็นพระกรรมวาจาจารย์
หลังอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดวังมะนาวเรื่อยมา เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยและการอ่านเขียนภาษาขอมและบาลีต่อ ซึ่งเรียนมาตั้งแต่ครั้งเป็นสามเณร และยังได้ถือกรรมฐานเป็นนิตย์
ปี พ.ศ. ๒๔๗๑ พระอธิการส่งมรณภาพ หลวงพ่อบุญจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดวังมะนาวทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง
![]() |
หลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว (พระครูประดิษฐ์นวการ) |
วัดวังมะนาว เป็นวัดราษฏร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ ๓๔ บ้านวังมะนาว หมู่ที่ ๓ ตําบลวังมะนาว อําเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๒๑ ไร่ ๓ งาน
วัดวังมะนาว ตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๕ ผู้บริจาคที่ดินให้สร้างวัดคือ นายรอด และนายเหว่า โดยถวายที่ดินกับพระชุดงค์ เพื่อก่อสร้างสํานักสงฆ์ ต่อมานายรอดและนายเหว่า ได้มีจิตศรัทธาขอบวชในพระพุทธศาสนาและได้จําพรรษาอยู่ที่สํานักสงฆ์
ต่อมาได้ย้ายวัดไปสร้างใหม่ทางทิศตะวันตกของวัดห่างไปประมาณ ๒๐ วา บริเวณใกล้สถานที่สร้างวัดมีวังน้ำใหญ่ลึกมาก และมีต้นมะนาวใหญ่ขึ้นอยู่ ชาวบ้านเรียกสถานที่นั้นว่า บ้านวังมะนาว
ในสมัยพระครูประดิษฐ์นวการดํารงตําแหน่งเจ้าอาวาส ท่านได้สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับวัด ตามประวัติกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้เคยเสด็จมาเยี่ยมวัดในสมัยพระแดงเป็นเจ้าอาวาส
ภายในบริเวณวัดมีสถาปัตยกรรมให้ทัศนา คือ อุโบสถแปดเหลี่ยม เจดีย์เก้ายอด เป็นที่นมัสการของพระพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป
วัดวังมะนาวได้รับการพัฒนาและบูรณะมาโดยตลอด จนถึงปัจจุบันได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๕๒ เมตร ยาว ๕๒ เมตร มีเจ้าอาวาสปกครองวัดเท่าที่ทราบนามดังนี้
๑. พระเหล็ก พ.ศ. ๒๓๖๕ - ๒๓๗๕
๒. พระพริ้ว พ.ศ. ๒๓๗๕ - ๒๓๙๕
๓. พระมา พ.ศ. ๒๓๙๕ - ๒๔๓๒
๔. พระสิงห์ พ.ศ. ๒๔๓๒ - ๒๔๔๘
๕. พระเรือน พ.ศ. ๒๔๔๘ - ๒๔๕๑
๖. พระอ้าย พ.ศ. ๒๔๕๑ - ๒๔๕๔
๗. พระแดง พ.ศ. ๒๔๕๔ - ๒๔๕๕
๘. พระส่ง พ.ศ. ๒๔๕๕ - ๒๔๗๑
๙. พระครูประดิษฐ์นวการ (บุญ อิสฺสโร) พ.ศ. ๒๔๗๑ - ๒๕๒๖
๑๐. พระครูโอภาสพัฒนกิจ (ส่วน โอภาโส) พ.ศ. ๒๕๒๖ - ๒๕๖๒
๑๑. พระครูสังฆรักษ์พูลทรัพย์ สติสมฺปนฺโน พ.ศ. ๒๕๖๓ - ปัจจุบัน
หลังจากที่หลวงพ่อบุญได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุต่างๆ ภายในวัดจนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ
ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นครูสอนปริยัติธรรม สำนักเรียนวัดวังมะนาว
ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตรวจธรรมสนามหลวง นักธรรมชั้นตรี
ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นองค์การสงฆ์อำเภอที่สาธารูปการอำเภอปากท่อ
ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระครูชั้นประทวนที่ "พระครูบุญ อิสฺสโร"
ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ และเปิดโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม
ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ท่านได้สร้างศาลาการเปรียญ กว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๑๖ เมตร เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ๒ ชั้น
ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตรที่ "พระครูประดิษฐ์นวการ"
ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการเจ้าคณะตำบลวังมะนาว-ดอนทราย
ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบลวังมะนาว-ดอนทราย และสร้างหอสวดมนต์ กว้าง ๑๖ เมตร ยาว ๓๒ เมตร เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก
ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท เจ้าคณะตำบลในราชทินนามเดิม
ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก เจ้าคณะตำบล ในราชทินนามเดิม
ปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษ ผู้ช่วยพระอารามหลวง ในราชทินนามเดิม
ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ พระอุโบสถ กว้าง ๕๒ เมตร ยาว ๕๒ เมตร เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กทรงแปดเหลี่ยมเจดีย์เก้ายอด
![]() |
ภาพถ่ายหลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว ในหนังสือพระปาฏิหาริย์วัดวังมะนาว |
หลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว เป็นพระปฏิบัติที่สุภาพเรียบร้อย ใจเย็นและสุขุมลุ่มลึก พระปฏิบัติดังๆ ในภาคตะวันตกนี่ ไม่ว่าหลวงพ่อหยอด วัดแก้วเจริญ หลวงพ่อม่วง วัดยางงาม และหลวงปู่เย็น วัดยาง เขาย้อย ต่างก็ออกปากยกย่องท่านทุกองค์ว่า ทำใจอย่างท่านไม่ได้
"คนกินเหล้าในวัด นั่งกินต่อหน้าท่าน ท่านไม่พูดสักคำ ท่านนั่งดูเขากิน ท่านใจเย็นมาก" หลวงปู่เย็นวัดยาง ได้เล่าไว้
"เรื่องเงินถวาย ถ้าใครเอามาถวายให้วัดท่านเอา แต่ถ้าถวายส่วนตัวท่านไม่รับ ถ้าพระรับให้ทิ้งเลย แบบสละ ไปให้ใครก็ให้ไปเถอะ หลวงพ่อไม่สะสม" ท่านหลวงพ่อส่วนเล่า"
ในช่วงที่หลวงพ่อบุญ (พระครูประดิษฐ์นวการ) ดำรงฐานะเจ้าอาวาสวัดวังมะนาว ท่านได้สร้างสมบารมีไว้มากมายทั้งทางด้านการปกครอง การศึกษาปฏิบัติธรรม สั่งสอนจริยธรรมและคุณธรรม ตลอดจนการก่อสร้างถาวรวัตถุไว้มามาย อาทิเช่น ศาลาการเปรียญ หอพระปริยัติธรรม หอฉันอุโบสถ และอื่นๆอีกมากมาย
และด้วยคุณงามความดีของหลวงพ่อบุญ ทำให้ในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ เนื่องด้วยตรงกับวันพระราชพิธีเฉลิมพระชนพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ซึ่งตรงกับวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูประดิษฐนวการ (ใช้ราชทินนามเดิม)
หลังจากนั้นท่านได้ก่อสร้างเฉพาะอุโบสถทรงแปดเหลี่ยมยอดเจดีย์ ๙ ยอด โดยท่านเป็นผู้ริเริ่มวางแผนรูปแบบตามที่ท่านนิมิต ซึ่งท่านได้มอบหมายให้ ผ.ศ. อำนวย หุนสวัส จากคณะจิตรกรรรม มหาลัยศิลปากร เป็นที่ปรึกษา วางแผนออกแบบก่อสร้างแต่การดำเนินงานยังไม่แล้วเสร็จหลวงพ่อบุญ ( พระประดิษฐ์นวการ ) ท่านถึงแก่มรณภาพเสียก่อน
หลวงพ่อบุญ ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ เวลา ๑๓.๐๐ น. รวมอายุได้ ๘๑ ปี ๗ เดือน ๒๔ วัน โดยหลวงพ่อบุญท่านครองวัดอยู่ถึง ๕๓ ปี เมื่อสิ้นท่านหลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว ก็แต่งตั้งท่านพระครูส่วน โอภาโส (พระครูโอภาส พัฒนกิจ) ขึ้นมาเป็นเจ้าอาวาส ท่านเป็นศิษย์หลวงพ่อบุญอยู่ที่วัด และเป็นพระซื่อสัตย์สุจริตองค์หนึ่ง ท่านสร้างวัดวังมะนาวให้เจริญก้าวหน้ามาจนทุกวันนี้
วัตถุมงคลของหลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว
พระชุดเนื้อโลหะ
เหรียญหลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่ มีการสร้างด้วยกัน ๒ เนื้อคือ เนื้อทองแดง สร้างจำนวน ๙๙ เหรียญ และบล็อคเนื้อทองเหลือง สร้างจำนวนประมาณ ๕๐๐ เหรียญ สามารถแบ่งออกได้เป็น ๒ บล็อกคือบล็อกหน้าแก่ และบล็อกหน้าหนุ่ม ปัจจุบันหาดูของแท้และสวยได้ยาก (ทั้ง ๒ บล็อค) และจัดเป็นเหรียญหลักยอดนิยมตลอดกาลอีกเหรียญหนึ่งของจังหวัดราชบุรี
![]() |
เหรียญหลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เนื้อทองเหลือง บล็อกหน้าหนุ่ม |
![]() |
เหรียญหลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เนื้อทองเหลือง บล็อกหน้าแก่ |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อบุญ ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดวังมะนาว" ด้านล่างมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูประดิษฐนวการ"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์
มะนาวทอง หลวงพ่อบุญ รุ่นแรก
สร้างครั้งแรกเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ โดยชื่อของ "มะนาวทองหลวงปู่บุญ" เป็นวัตถุมงคลที่เป็นเอกลักษณ์แสดงให้เข้าใจได้ทันทีว่าเป็นวัตถุมงคลของวัดวังมะนาว ที่หลวงปู่บุญได้บรรจงสร้างเอาไว้ หลังจากที่ได้สร้างลูกอมรุ่นแรก (สรงน้ำ) เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งบรรดาลูกศิษย์แสวงหากันมาก เนื่องจากมีพระพุทธคุณรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นทางด้านคุ้มครองตัวได้อย่างชนิดหายห่วงแล้ว ยังมีอิทธิพลดีเด่นทางด้านเมตตามหานิยมอีกด้วย เมื่อหายากเข้าจึงมารบเร้าขอให้หลวงปู่สร้างลูกอมขึ้นมาอีก และด้วยผงเก่าเหลือน้อยหลวงปู่จึงสร้างมะนาวทองขึ้น โดยทำเป็นโลหะตรงกลางมีเกลียวสามารถเปิดออกได้ ภายในบรรจุผงวิเศษเอาไว้ มะนาวทองรุ่นแรกนี้ จำนวนการสร้างน้อยไม่มีการจดบันทึกไว้
![]() |
มะนาวทอง หลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ |
![]() |
มะนาวทอง หลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ (ด้านใน) |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อบุญ ห่วจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ นั่งสมาธิ ใต้องค์หลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "มะนาวทอง"
ด้านหลัง มียันต์สามและข้อความด้านใต้เขียนว่า "วัดวังมะนาว"
ภายใน บรรจุลูกอมขนาดเล็ก โดยเนื้อลูกอมคือมวลสารลูกอมที่แจกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕ แต่นำมาบดแล้วปั้นใหม่
มะนาวทอง หลวงพ่อบุญ รุ่นสอง
สร้างเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ หลังจากที่มะนาวทองรุ่นแรกหมดไปจากวัดอย่างรวดเร็วและไม่เพียงพอกับความต้องการ หลวงพ่อบุญจึงทำการสร้างมะนาวทองอีกครั้ง โดยในครั้งนี้ทำจากเนื้อโลหะทั้งลูกไม่มีลูกอมอยู่ภายในเนื่องจากเนื้อผงที่ทำลูกอมได้หมดลง จึงไม่สามารถเปิดออกได้ จำนวนการสร้างไม่มีการจดบันทึกไว้
![]() |
มะนาวทอง หลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อบุญ ห่วจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ นั่งสมาธิ ใต้องค์หลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "มะนาวทอง"
ด้านหลัง มียันต์สามและข้อความด้านใต้เขียนว่า "วัดวังมะนาว"
เหรียญหลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว รุ่นหลังเสือ
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เพื่อแจกจ่ายให้แก่ผู้ที่ร่วมทำบุญกับทางวัดวังมะนาว ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มคล้ายทรงใบเสมาย่อมุม รุ่นนี้ถือเป็นรุ่นที่มีประสพการณ์กันมากที่สุด เพราะด้วยมีเหตุยิงแทงกัน แต่คนที่ห้อยเหรียญไม่มีแผลละคายผิวแม้แต่น้อย จัดเป็นพระดีที่ราคายังไม่แพงนัก มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
![]() |
เหรียญหลังเสือ หลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เนื้ออัลปาก้า |
![]() |
เหรียญหลังเสือ หลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อบุญ นั่งสมาธิเต็มครึ่งบนฐานเขียง องค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ภายในฐานเขียงมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "๒๕๑๖" เพื่อบอกปีที่สร้าง ด้านล่างมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูประดิษฐนวการ"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์สาม ใต้ยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดวังมะนาว จ.ราชบุรี" ด้านล่างมีรูปเสือ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อรุ่น
เหรียญหลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว รุ่นสร้างกุฏิ รุ่นพิเศษ
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เพื่อแจกจ่ายให้แก่ผู้ที่ร่วมทำบุญสร้างกุฏิวัดวังมะนาว ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่ มีการสร้างด้วย เนื้อทองคำ เนื้อเงิน เนื้อนวะ และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
![]() |
เหรียญสร้างกุฏิ หลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื้อเงิน รุ่นพิเศษ ของคุณนัทพงษ์ ทวีลีสกุล |
![]() |
เหรียญสร้างกุฏิ หลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื้อนวะ รุ่นพิเศษ |
![]() |
เหรียญสร้างกุฏิ หลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื้อทองแดง รุ่นพิเศษ |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อบุญครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว ราชบุรี"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ล้อมรอบไปตามขอบเหรียญ ตรงกลางมียันต์สาม เหนือยันต์มีอักขระไทยอ่านว่า "รุ่นพิเศษ" ใต้ยันต์สามมีเสือ และมีอักขระไทยเขียนว่า "ผลลาภบุญทวี" รอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในงานสร้างกุฏิ วันเสาร์ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๙ ๒๕๑๘ "
เหรียญหลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว รุ่นสร้างกุฏิ แจกกรรมการ
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เพื่อแจกจ่ายให้แก่ผู้ที่ร่วมทำบุญสร้างกุฏิวัดวังมะนาว ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่ เข้าใจกันว่าสร้างเพื่อแจกกรรมการ มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
![]() |
เหรียญสร้างกุฏิ หลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื้อทองแดง แจกกรรมการ |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อบุญครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว ราชบุรี"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ล้อมรอบไปตามขอบเหรียญ ตรงกลางมียันต์สาม ใต้ยันต์สามมีเสือ และมีอักขระไทยเขียนว่า "ผลลาภบุญทวี" รอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในงานสร้างกุฏิ ๒๕๑๘ "
เหรียญหลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว รุ่นสร้างโบสถ์
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เพื่อแจกจ่ายให้แก่ผู้ที่ร่วมทำบุญสร้างพระอุโบสถวัดวังมะนาว ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่ขนาดเล็ก มีการสร้างด้วย เนื้อทองคำ เนื้อเงิน เนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
![]() |
เหรียญหลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว รุ่นสร้างโบสถ์ เนื้อทองคำ ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ของคุณยอดชาย ตั้งศิริกุลพร |
![]() |
เหรียญหลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว รุ่นสร้างโบสถ์ เนื้ออัลปาก้า ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ |
![]() |
เหรียญหลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว รุ่นสร้างโบสถ์ เนื้อทองแดง ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อบุญครึ่งองค์หันข้างเล็กน้อย ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว ราชบุรี"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ล้อมรอบไปตามขอบเหรียญ ตรงกลางมีรูปเจดีย์แบบองค์พระปฐมเจดีย์ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในการสร้างโบสถ์ ๒๕๑๙"
เหรียญกลมหลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว
สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงกลม แบบมีหูในตัว เพื่อแจกจ่ายให้กับชาวบ้านที่ร่วมทำบุญกับทางวัดวังมะนาว มีการสร้างด้วยเนื้อทองเหลือง เหรียญรุ่นนี้แบ่งออกเป็น ๓ ขนาดด้วยกันคือใหญ่ กลาง และเล็ก หรือขนาดเท่ากับเหรียญสลึง เหรียญห้าสิบสตางค์ และเหรียญหนึ่งบาท ในสมัยนั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
![]() |
เหรียญกลมหลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว เนื้อทองเหลือง ปี พ.ศ. ๒๕๒๒ |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อบุญครึ่งองค์หันหน้าตรง ห่มจีวรลดไหล่ ด้านบนมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว ราชบุรี"
ด้านหลัง เป็นยันต์ดวงมีอักขระล้อมรอบไปตามขอบเหรียญ ด้านล่างมีตัวเลขอ่านได้ว่า "๒๕๒๒" ซึ่งเป็นปีที่สร้างเหรียญ
รูปเหมือนหลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ด้วยเนื้อโลหะทองแเดง ถือเป็นพระรูปเหมือนรุ่นแรกและรุ่นเดียวที่ทันหลวงพ่อบุญ ปลุกเสก จำนวนการสร้างไม่ได้มีการบันทึกไว้
![]() |
รูปเหมือนหลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อบุญ นั่งสมาธิเต็มองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อบุญ"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ "มะ อะ อุ" ที่สังฆาฏิ ด้านล่างมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดวังมะนาว อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี" ใต้ฐานเรียบ
พระบูชาหลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ด้วยเนื้อโลหะทองเหลือง ขนาดหน้าตัก ๕ นิ้ว สูง ๘ นิ้ว ถือเป็นพระบูชารุ่นแรกและรุ่นเดียวที่ทันหลวงพ่อบุญ ปลุกเสก จำนวนการสร้างหลักพันองค์
![]() |
พระบูชาหลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว รุ่นแรก |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อบุญ นั่งสมาธิเต็มองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูประดิษฐนวการ (หลวงพ่อบุญ) วัดวังมะนาว อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ๙ มีนาคม ๒๕๒๓"
ด้านหลัง มีรูปจำลองเสืออยู่หนึ่งตัว ด้านล่างมีดินฝรั่ง
พระเนื้อผงหลวงพ่อบุญ
สมเด็จหลังยันต์พาน หลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว
สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เพื่อแจกจ่ายให้ผู้ร่วมบริจาคทรัพย์ ลักษณะเหมือนพระสมเด็จทั่วไป สร้างด้วยเนื้อผงพุทธคุณสีออกขาวอมเทาเล็กน้อย จัดเป็นพระที่หายากเนื่องจากพระส่วนใหญ่จะชำรุด จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
![]() |
พระสมเด็จหลังพาน หลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว |
ด้านหน้า คล้ายพระสมเด็จสามชั้นทั่วไป แต่องค์พระมีเส้นรัศมี หรือประภามลฑล
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ตัว "อุ" ใต้ยันต์มีพาน
พระปิดตามหาลาภหลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว
สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เพื่อแจกจ่ายให้กับศิษยานุศิษย์ที่ทำบุญบริจาคทรัพย์เพื่อสร้างเสนาสนะต่างๆ ลักษณะเป็นแบบพระปิดตาทั่วไป มีการสร้างด้วยเนื้อผงสีขาวและเนื้อผงสีออกน้ำตาล จำนวนการสร้างไม่ได้ระบุไว้
![]() |
พระปิดตามหาลาภ หลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว เนื้อผงสีขาว |
![]() |
พระปิดตามหาลาภ หลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว เนื้อผงสีน้ำตาล |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระปิดตาแบบทั่วไป
ด้านหลัง มีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "มะ อะ อุ" ตรงกลางองค์พระมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดวังมะนาว ราชบุรี"
พระขุนแผน หลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว
สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เพื่อแจกจ่ายให้แก่ชาวบ้านที่ร่วมทำบุญบริจาคทรัพย์เพื่อสร้างถาวรวัตถุของวัดวังมะนาว ลักษณะเป็นพระเนื้อผงสีออกขาว ทรงห้าเหลี่ยมเหมือนพระขุนแผน จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ พระชุดนี้มีการสร้างและกดพิมพ์ภายในวัด และน่าจะสร้างน้อยมาก เนื่องจากจำนวนที่พบเห็นได้ยากแล้วในปัจจุบัน
![]() |
พระขุนแผน หลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว ราชบุรี |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระพุทธปางมารวิชัย ประทับนั่งบนอาสนะมีผ้าทิพย์ โดยมีซุ้มเรือนแก้ว ปิดตาแบบทั่วไป
ด้านหลัง เรียบ แต่ในบางองค์จะมีรอยจารอักขระยันต์
พระสามอาจารย์ หลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว
สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ลักษณะเป็นพระผงพิมพ์สี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ โดยประกอบไปด้วยหลวงพ่อหนึ่ง วัดห้วยโรง พระอุปัฌาชย์ หลวงพ่อนิ่ม วัดห้วยโรง พระกรรมวาจาจารย์ และลำดับสุดท้าย คือตัวท่านเองหลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว พระชุดนี้มีทั้งที่ทันหลวงพ่อและที่สร้างออกมาหลังจากที่มรณะภาพแล้ว จัดเป็นพระหายกอีกพิมพ์หนึ่งเนื่องจากพระเปาะ เสียหายได้ง่าย
![]() |
พระสามหลวงพ่อ หลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว ราชบุรี |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อหนึ่ง วัดห้วยโรง พระอุปัฌาชย์ หลวงพ่อนิ่ม วัดห้วยโรง พระกรรมวาจาจารย์ และลำดับสุดท้าย คือตัวท่านเองหลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว ประทับนั่งบนอาสนะฐานเขียง ภายในซุ้มย่อมุม
ด้านหลัง มีอักขระยันต์คล้ายของหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม
พระผงหลังเสือหลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เพื่อแจกจ่ายให้แก่ผู้ที่ร่วมทำบุญกับทางวัดวังมะนาว ลักษณะเป็นพระเนื้อผงสีออกขาว พิมพ์ทรงคล้าย เหรียญรุ่นหลังเสือ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
![]() |
พระผงหลังเสือ หลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อบุญ นั่งสมาธิเต็มครึ่งบนฐานเขียง องค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ภายในฐานเขียงมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อบุญ" เพื่อบอกปีที่สร้าง ด้านล่างมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูประดิษฐนวการ"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์สาม ด้านล่างมีรูปเสือ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อรุ่น
พระปาฏิหาริย์หลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว
สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เพื่อแจกจ่ายให้แก่ผู้ที่ร่วมทำบุญกับทางวัดวังมะนาว ลักษณะเป็นพระเนื้อผงสีออกขาว พิมพ์ทรงคล้ายพระสมเด็จ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
![]() |
พระปาฏิหาริย์ หลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระพุทธรูปปางสมาธิ บนฐานชุกชี องค์พระห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ มีซุ้มแก้วครอบ สวยงาม
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ตาราง มีอักขระไทยเขียนว่า "วัดวังมะนาว ราชบุรี"
สมเด็จหลังยันต์อุ หลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เพื่อแจกจ่ายให้ผู้ร่วมบริจาคทรัพย์ ลักษณะเหมือนพระสมเด็จทั่วไป สร้างด้วยเนื้อผงพุทธคุณสีออกขาวอมเทาเล็กน้อย จัดเป็นพระที่หายากเนื่องจากพระสว่นใหญ่จะชำรุด
![]() |
พระสมเด็จหลังยันต์อุ หลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว |
ด้านหน้า คล้ายพระสมเด็จทั่วไป
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ตัว "อุ" ใต้ยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดวังมะนาว ราชบุรี"
พระนางพญาหลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ มีลักษณะเป็นพระผงพิมพ์สามเหลี่ยม แบบพระนางพญา โดยให้มวลสารที่หลวงพ่อได้เก็บรวบรวมไว้ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
![]() |
พระนางพญา หลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว |
ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธปางสมาธิ
ด้านหลัง มีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "มะ อะ อุ" ใต้ยันต์มีอักษรไทยเขียนว่า "วัดวังมะนาว ราชบุรี"
พระหยดน้ำ หรือ ใบโพธิ์ หลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ มีลักษณะเหมือนใบโพธิ์หรือหยดน้ำ มีการสร้างด้วยเนื้อผงสีขาว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
![]() |
พระหยดน้ำ หรือ ใบโพธิ์หลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว |
ด้านหน้า จำลองรูปหลวงพ่อบุญ นั่งพับเพียบ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่ ด้านล่างมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อบุญ"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "นะ มะ พะ ทะ" ใต้ยันต์มีอักษรไทยเขียนว่า "วัดวังมะนาว ราชบุรี"
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น