วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อธรรมจักร วัดดาวโด่ง เหรียญวัดดาวโด่งอันเก่าแก่ของสมุทร​สงคราม​

หลวงพ่อธรรมจักร วัดดาวโด่ง สมุทรสงคราม

          หลวงพ่อธรรมจักร วัดดาวโด่งจัดเป็นพระพุทธศักดิ์สิทธิ์อีกองค์หนึ่งของลุ่มน้ำแม่กลอง ปัจจุบันประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดดาวโด่ง โดยวัดตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ ๔ ตำบลคลองเขิน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม

          วัดดาวโด่ง สร้างขึ้นจากการที่นายช้าง ชาวตำบลคลองเขิน ได้อุทิศที่ดินของตน เพื่อให้ตั้งสำนักสงฆ์ขึ้น โดยสภาพตอนนั้นที่ดินในพื้นที่ดังกล่าวยังเป็นป่ารกชัฎมาก จากการสอบถามและหลักฐานทางดบราณคดีพอสันนิษฐานได้ว่า วัดดาวโด่งสร้างขึ้นในราวรัชกาลที่ ๒ – รัชกาลที่ ๓ จดทะเบียนเป็นวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๕๐ และได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๓

          ส่วนอุโบสถพบหลักฐานว่าสร้างในราวช่วงสมัยรัชกาลที่ ๔ โดยมีพระวินัยธรรม(บัว) เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสงคราม ในสมัยนั้นได้ชักชวนพุทธศาสนิกชนร่วมกันบูรณะวัดนี้ ในเวลาต่อมาพระอุโบสถหลังดังกล่าว ได้เก่าและชำรุดทรุดโทรมลงมากตามกาลเวลา จึงได้สร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้น และทำการผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๔๙๓

          เมื่อสร้างอุโบสถหลังใหม่นั้น ทางวัดได้ทำการขุดลูกนิมิตของอุโบสถหลังเก่าเพื่อนำมาใช้กับพระอุโบสถหลังใหม่ ทำให้ทางวัดได้พบเงินพดด้วง และเงินเหรียญเฟื้องเป็นจำนวนมาก ซื่งเป็นเงินที่ใช้กันในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๔ จึงสันนิษฐานได้ว่า อุโบสถหลังเก่านี้สร้างขึ้นในสมัย รัชกาลที่ ๔

วัดดาวโด่ง สมุทรสงคราม


          วัดดาวโด่งเดิมมีชื่อว่า “วัดดุสิดาราม” โดยหลวงพ่อเต็ม เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดดาวโด่งเป็นผู้ตั้งชื่อวัดขึ้น ต่อมาในสมัยของหลวงพ่อโพธิ์ เป็นเจ้าอาวาสได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดดาวโด่ง” เพื่อให้พ้องกับทางราชการและสอดคล้องกับชื่อตำบลวัดดาวโด่ง

          สิ่งสำคัญของวัดดาวโด่ง มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ควรค่าแก่การชมและนมัสการที่ชาวบ้านเรียกติดปากกันว่า "หลวงพ่อธรรมจักร" เป็นพระประธานในพระอุโบสถ องค์พระจัดว่าเป็นพระประธานที่สวยงามมาก สร้างพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา 

         โดยมีการลอกเลียนแบบมาจากวัดหน้าพระเมรุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื้อโลหะหล่อด้วยทองเหลือง มีขนาดหน้าตักกว้าง ๓ ศอก ๑ คืบ ส่วนสูงจากพระบาทถึง พระเกตุทาลา ๗ ศอก ๑ คืบ ๖ นิ้ว มีน้ำหนักประมาณ ๕,๐๐๐ กิโลกรัม แบบห้อยพระบาท เทหล่อเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ดังปรากฏอยู่ที่ฐานขององค์พระ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปยุคแรกที่เข้าสู่ประเทศไทย

          ในงานหล่อหลวงพ่อธรรมจักร ซึ่งเป็นพระประธานวัดดาวโด่งในครั้งนั้น ทางวัดได้นิมนต์พระเกจิชื่อดังมากมายมาร่วมพิธีสวดพระมงคลคาถาและเจริญน้ำพระพุทธมนต์สำหรับประพรมองค์หลวงพ่อธรรมจักร ที่พอสืบทราบได้ก็จะมี หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ หลวงพ่อเฟื่อง วัดอมรญาติ และหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี เป็นต้น

          นอกจากนี้ทางวัดดาวโด่งยังมีพิพิธภัณฑ์วัดดาวโด่ง ซึ่งได้ทำการรวบรวมวัตถุโบราณไว้เป็นจำนวนมาก วัดดาวโด่งจึงเป็นวัดที่สำคัญวัดหนึ่งของจังหวัดสมุทรสงคราม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จมาที่วัดเพื่อทอดพระเนตรถึง ๒ ครั้ง ๒ ครา นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้.

วัตถุมงคลของวัดดาวโด่ง

          เหรียญหลวงพ่อวัดดาวโด่ง รุ่นแรก

          สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๔๙๓ เพื่อเป็นที่ระลึกในงานหล่อพระประธานวัดดาวโด่ง มีลักษณะเป็นเหรียญกลมแกะลวดลาย มีห่วงเชื่อมสำหรับห้อยเหรียญ มีการสร้างด้วยเนื้อเงินลงถม โดยมีหลวงปู่ใจ วัดเสด็จ หลวงพ่อเฟื่อง วัดอมรญาติ และหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี ร่วมกันปลุกเสก จำนวนการสร้างไม่ได้มีการระบุไว้

เหรียญหลวงพ่อธรรมจักร วัดดาวโด่ง รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ เนื้อเงินลงถม

          ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อธรรมจักร พระประธานของวัดดาวโด่ง ด้านล่างมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ดาวโด่ง" พื้นเหรียญลงถมสีดำ

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์นูนคมชัด ไม่มีขอบเหรียญ

          เหรียญหลวงพ่อวัดดาวโด่ง รุ่นสอง

          สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๕๐๐  เพื่อแจกจ่ายให้ผู้ร่วมทำบุญกับทางวัดดาวโด่ง มีลักษณะเป็นเหรียญกลมแกะลวดลายคล้ายเหรียญรุ่นแรก มีหูในตัวการสร้างด้วยเนื้อทองคำ และเนื้ออัลปาก้า จำนวนการสร้างไม่ได้มีการระบุไว้

เหรียญหลวงพ่อธรรมจักร วัดดาวโด่ง รุ่นสอง เนื้อทองคำ ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ของคุณชรินทร์ ทางรัตนสุวรรณ

เหรียญหลวงพ่อธรรมจักร วัดดาวโด่ง รุ่นสอง ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เนื้ออัลปาก้า

          ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อธรรมจักร พระประธานของวัดดาวโด่ง ด้านล่างมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ดาวโด่ง" โดยเหรียญเนื้อทองคำจะลงยาสีแดง ส่วนเหรียญเนื้ออัลปาก้าจะลงยาสีดำ

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์นูนคมชัด มีขอบเหรียญ

          พุทธคุณของเหรียญหลวงพ่อวัดดาวโด่ง ที่พบเจอกันบ่อยๆคือเมตตามหานิยม ทำมาค้าขายคล่อง ส่วนในด้านคลาดแคล้วก็มีให้เห็นบ่อย คนคลองเขินรู้กันดี.


โดย : สารานุกรม​พระเครื่อง​ลุ่ม​น้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง

***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น